มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน Reading Culture Promotion Program ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ส ส ส.)
ค้นหา
เกี่ยวกับเรา
เว็บไซต์ www.happyreading.in.th
เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่กลางของการส่งผ่านข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการอ่าน รวมถึงการสื่อสารกับทุกภาคส่วนที่มีความสนใจในด้านการอ่านเพื่อการสร้างเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมสุขภาวะร่วมกันในสังคมไทย
รู้จักมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ดำเนินงานร่วมขับเคลื่อนให้เกิดสังคมการอ่านมาตั้งแต่ 4 สิงหาคม 2552 ในนาม “สถาบันสื่อสร้างสรรค์และวัฒนธรรมการอ่าน” ต่อมาได้รับอนุญาตให้จดทะเบียน เป็นมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 เป็นองค์กรสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านเพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์
กลยุทธ์การดำเนินงาน : Strategic
1. พัฒนา สร้างสรรค์ และส่งเสริมสื่อเพื่อคุณภาพการอ่าน
2. เพิ่มพื้นที่การเข้าถึงหนังสือและการอ่านในกลุ่มเปราะบาง
3. พัฒนากระบวนการสื่อสารมุ่งสร้างสังคมการอ่าน
4. สานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านทั้งในระดับชุมชนและนโยบาย
รายชื่อคณะกรรมการของมูลนิธิฯ
ที่ปรึกษา
วัลลภา นีละไพจิตร อดีตนายกสมาพันธ์สมาคมสตรีมุสลิมแห่งประเทศไทย
จิราภรณ์ ทิพยศุภลักษณ์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ
ชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ นักเขียนและบรรณาธิการอิสระ
กรรมการ
สุดใจ พรหมเกิด ประธาน
โอภาส เชฏฐากุล รองประธาน
ระพีพรรณ พัฒนาเวช กรรมการ
รศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ กรรมการ
พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กรรมการ
พรรณทิพย์ เพชรมาก กรรมการและเหรัญญิก
สรวิชญ์ สุรชวาลา กรรมการและเลขานุการ
วิสัยทัศน์
เป็นแผนงานที่มีบทบาทในการกระตุ้น สนับสนุน และสร้างเสริมวัฒนธรรมสังคมการอ่าน สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ
พันธกิจ
เป็นแผนงานฯ ที่มีบทบาทประสานความร่วมมือ กระตุ้น สนับสนุน สานพลัง และสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยสู่สังคมสุขภาวะ สนับสนุนปกป้องคุ้มครองเด็กจากการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศ
ปรัชญา
สร้างเสริมการอ่านให้เป็นวัฒนธรรม คือการลงทุนเพื่อสังคมอนาคตที่สร้างสรรค์
ความสำคัญของการอ่านในเด็กปฐมวัย
“การอ่าน” เป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างภูมิคุ้มกัน พัฒนาจิตใจ และพัฒนาทักษะสู่การเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้การรู้หนังสือเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นพลังแห่งศักดิ์ศรี เป็นพื้นฐานความเข้มแข็งของสังคม และเป็นฐานรากของการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะก่อความรุดหน้าในทุกด้าน นับแต่เรื่องการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยด้านโภชนาการ การขจัดความยากจน ตลอดจนการสร้างเสริมการมีงานทำที่เหมาะสม
การอ่านออกเสียงให้เด็กฟังตั้งแต่ปฐมวัยช่วยสร้างความสุข ความเพลิดเพลิน ช่วยสร้างคลังคำศัพท์ การจับใจความ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ จากข้อค้นพบของ ดร.เบตตี้ ฮาร์ต (Betty Hart) และ ดร.ท็อด ริสลีย์ (Todd Risley) แห่งมหาวิทยาลัยแคนซัส ได้ทดลองเก็บข้อมูลของครอบครัว กลุ่มตัวแทนทางเศรษฐกิจสามกลุ่ม คือ กลุ่มสวัสดิการ ชนชั้นแรงงาน และชนชั้นวิชาชีพ เป็นเวลา 4 ปี พบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่มีสัญชาตญาณการเลี้ยงลูกที่ดี ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจแบบใด แต่มีความแตกต่างอย่างมีผลสำคัญ คือ เด็กสี่ขวบจากชนชั้นวิชาชีพได้ยินคำศัพท์ 45 ล้านคำ เด็กชนชั้นแรงงานได้ยินคำศัพท์ 26 ล้านคำ และเด็กจากชนชั้นพึ่งสวัสดิการได้ยินคำศัพท์เพียง 13 ล้านคำ นั่นหมายถึง เด็ก 1 คน มีความเหลื่อมล้ำทางกระบวนการเรียนรู้ถึง 32 ล้านคำ สอดคล้องกับงานศึกษาวิจัยของนักสังคมวิทยา จอร์จ ฟาร์กัส (George Farkas) และเคิร์ต เบรอน (Kurt Beron) ที่พบว่า เด็กจากฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าจะมีคลังคำศัพท์น้อยกว่า เมื่อเริ่มเข้าเรียนจะล้าหลังกว่าเด็กอื่น 12 – 14 เดือน เมื่อโตขึ้นก็ยังชดเชยความรู้แทบไม่ได้
สถานการณ์เด็กปฐมวัยในยุคประเทศไทย 4.0
เด็กปฐมวัย คือ เด็กช่วงอายุตั้งแต่ 0 - 6 ปี มีจำนวนประมาณ 4 ล้านคน เป็นช่วงวัยที่ระบบประสาทและสมองเจริญเติบโตในอัตราสูงสุดกว่า 80 % ของชีวิตมนุษย์ เป็นช่วงเวลาของการวางรากฐานการเรียนรู้และพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาอย่างมีคุณภาพและเต็มศักยภาพ จากโครงการวิจัยเรื่อง การดูแลครอบครัวเปราะบางในสถานการณ์เปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคมไทย พบว่า ขณะที่ผู้สูงอายุมีอัตราเพิ่มขึ้น ประชากรวัยเด็กกลับมีอัตราเพิ่มขึ้นต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น ข้อมูลประชากรศาสตร์ไทย ปี พ.ศ. 2562 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 618,193 คน และยังมีพัฒนาการสงสัยล่าช้าร้อยละ 32.5 โดยพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดปี 2560 เฉลี่ยร้อยละ 21.60 ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอื่นๆ อาทิ การสื่อสาร อารมณ์ สังคม สติปัญญา (จินตนา พัฒนพงษ์ และวันวิสาร์ แก้วขันแข็ง , รายงานการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย ครั้งที่ 6 พ.ศ.2560 กลุ่มสนับสนุนวิชาการและการวิจัย สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย , 2561 , หน้า 79.)
จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรที่มีภารกิจพัฒนาและแก้ไขปัญหาเด็กพัฒนาการล่าช้าเพียงหน่วยงานเดียวนั้นไม่เพียงพอ ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท้องถิ่นต้องเข้าใจถึงปัญหาและต้องร่วมกันแก้ไข ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า มีดังนี้ 1. ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เช่น การพบปัญหาการติดเชื้อมือเท้าปากภายในโรงเรียน หรือ ครอบครัวขาดความเข้าใจในการดูแลสุขภาพเด็กอย่างรอบด้าน (ร่างกาย สังคม อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา) เป็นต้น 2. การก้าวสู่สังคมดิจิทัล ปัจจุบันพบว่าเด็กใช้มือถือมากเกินไป มีผลกระทบต่อสมองส่วนหน้า ทำให้พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า และมีผลกระทบโดยตรงกับพัฒนาการด้านสติปัญญา 3. การเปลี่ยนแปลงของครอบครัว ที่ปัจจุบันเป็นครอบครัวแหว่งกลาง ผู้สูงอายุรับหน้าที่เลี้ยงเด็กแทนพ่อแม่ และ 4. ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเฉพาะด้านส่งเสริมเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการที่สมวัยและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เสริมทักษะชีวิต
การที่เด็กอายุระหว่าง 0 - 4 ปี ในประเทศไทยมากถึง 1 ใน 5 คน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดแม้พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก ประกอบกับการขาดแคลนสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กที่ราคาย่อมเยาและเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน (เมื่อแม่ต้องกลับไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด) จนถึง 3 ปี (ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เด็กเข้าสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น โรงเรียนอนุบาล) ปัจจัยความเหลื่อมล้ำทางสังคม เหล่านี้ส่งผลให้พ่อแม่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายายหรือสมาชิกคนอื่นๆ ของครอบครัวในจังหวัดบ้านเกิด และปัญหานี้มักเป็นปัญหาที่เกิดกับครอบครัวยากจนที่พ่อและแม่ต้องทำมาหากินทั้งคู่
สถานการณ์สังคมยุคโควิด-19
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กทุกกลุ่ม มีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อ
กลุ่มเด็กยากจน ครอบครัวเปราะบาง (กลุ่มการศึกษาพิเศษ ผู้พิการ
ผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ฯลฯ) ที่ต้องการการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิด
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตชี้ว่า ประเทศไทยมีนักเรียนที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้มากกว่า 2 แสนคน ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนในครั้งนี้ จึงส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างรุนแรงที่สุด และควรเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ภาครัฐควรมุ่งให้การดูแลช่วยเหลือ
มีงานวิจัยหลายชิ้นได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของการปิดโรงเรียนระยะยาว หรือเปิดเรียนล่าช้า พบว่า การที่นักเรียนต้องอยู่บ้านนานๆ จะส่งผลทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนถดถอยลง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน และการที่เด็กต้องออกจากโรงเรียนประมาณ 6 สัปดาห์ ทำให้ความรู้หายไปถึงครึ่งปีการศึกษา สภาวะการถดถอยของทุนมนุษย์ (human capital) จะนำไปสู่การถดถอยของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ เช่น งานวิจัยที่พบว่า การปิดโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา 1 เดือน ส่งผลกระทบต่อ GDP ของประเทศ ถึง 0.1 – 0.3 % ด้านการวิเคราะห์เรื่องความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา รวมถึงผลลัพธ์ของการเรียนรู้แบบออนไลน์ พบว่า การเรียนผ่านระบบออนไลน์ในยุคโควิด-19 มีปัญหาในมิติ ด้านความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide) อาทิ การเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต
ทักษะความรู้ของครูและผู้ปกครองในการช่วยสนับสนุน ปัญหาการใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป (ข้อมูลจากการสำรวจขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ต่อเด็กกลุ่มอายุ 15 ปี) แม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยขจัดช่องว่างในการสื่อสารและเป็นช่องทางเสริมสร้างการเรียนรู้และเยียวยาปัญหา ในช่วงที่ยังต้องดูแล Social Distancing อย่างต่อเนื่อง ผู้ใหญ่ยังคงสามารถพูดคุย หรือจัดประชุมทางไกลได้ผ่าน Zoom หรือแอปพลิเคชั่นสื่อสารรูปแบบต่างๆ แต่สำหรับเด็กเล็กแล้ว การเล่นและการเรียนรู้ด้วยการใช้สื่อส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน เป็นเครื่องมือสำคัญที่ไม่สามารถจำลองขึ้นมาในโลกเสมือนจริงได้ วิกฤตโรคโควิด-19 ทำให้เห็นความสำคัญที่สุดของผู้แวดล้อมเด็ก ที่ไม่ใช่เพียงพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ใกล้ชิด แต่ยังมีครูและบุคคลใกล้ชิดอื่นๆ ที่มีอิทธิพลและเกี่ยวข้องต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์ , “วิกฤต Covid – 19 กับผลกระทบต่อเด็กทั่วโลก ที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบ,”บทความสร้างสรรค์พลังความรู้เพื่อครูไทย, แปลโดย ธนิสรา สุทธานันต์, หน้า 12–13, พฤษภาคม 2563 จากwww.educathai.com)
การรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องกักตัวอยู่บ้านกับลูกเล็กที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องการใช้สื่อเทคโนโลยีให้เหมาะสมกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เพราะสมองส่วนหน้าของพวกเขายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ พ่อแม่ต้องคอยช่วยเหลือเด็กในการควบคุมอารมณ์ โดยไม่มีคนอื่นมาช่วยแบ่งเบา เช่น ครู ญาติ ฯลฯ
ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้เท่าทันบนเส้นทางชีวิตวิถีใหม่ การออกแบบวิถีสุขภาวะด้วยนิเวศการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงพื้นที่ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ออนแอร์ และออนกราวน์ เหมาะสมบริบทวัฒนธรรม เพื่อปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ หรืออุบัติการณ์อื่นๆ อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง
การลงทุนในเด็กปฐมวัย
ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนาและการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กโดยเฉพาะช่วงแรกเกิดถึง 5 ปี ดังที่ศาสตราจารย์ James J. Heckman จาก University of Chicago ได้ศึกษาผลกระทบของโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยภายใต้ โครงการ Perry Preschool ระบุว่า การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยจะให้อัตราผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 7 - 10 โดยพบว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีทั้งสารอาหารและการดูแลสุขภาพในช่วงแรกของชีวิต จะมีทักษะทางกายภาพ ความฉลาดทางสติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ที่ดีกว่า รวมทั้งมีโอกาสเข้าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา และในการวิจัยล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2559 พบว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี จะให้ผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 13
ในขณะที่ ดร. ชาร์ลส์ เอ เนลสัน กล่าวว่า เด็กปฐมวัยจะเป็นช่วงเวลาของหน้าต่างแห่งโอกาส หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นช่วงโอกาสทองของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมองมีการพัฒนาสูงสุด ที่จะส่งผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยในต่างประเทศที่พบว่า การได้รับโภชนาการในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตมีความสำคัญมากถึงร้อยละ 80 ต่อการกำหนดภาวะสุขภาพไปตลอดชีวิต ดังนั้น การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยจึงถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าและมีความสำคัญที่สุดต่อการสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศและสังคมสุขภาวะในอนาคต
จากข้อมูลพบว่า การอ่านหนังสือให้เด็กฟังอย่างมีความสุข ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน เพราะเป็นตัวทำนายและเป็นตัวกำหนดว่า เด็กๆ จะมีความสุขกับการเรียนหรือล้มเหลว โดยในรายงานโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment – PISA) แสดงให้เห็นภาวะที่สัมพันธ์กันอย่างมากว่า ยิ่งตอนเด็กๆ ได้ฟังพ่อแม่อ่านออกเสียงมากเท่าไหร่ ตอนอายุ 15 ปี เด็กยิ่งทำคะแนนได้สูงขึ้นเท่านั้น และมีโอกาสเชื่อมโยงการอ่านเข้ากับประสบการณ์ความสุขในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น โดยผลลัพธ์นี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของครอบครัว (Jim Trelease’s , READ – ALOUD HANDBOOK 8thพลังแห่งการอ่านออกเสียง , แปลโดย อสมาพร โคมเมือง (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ bookscape, 2562), หน้า 39.) แต่ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติกลับพบว่ายังมีเด็กกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน ยังขาดโอกาสเข้าถึงการอ่าน
ติดต่อมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (Reading Culture Promotion Program)
ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่อยู่ : เลขที่ 424 หมู่บ้านเงาไม้ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 67 แยก 3
ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700
โทรศัพท์/โทรสาร : 02-424-4616-7 / 02-8811-877
Email : happy2reading@gmail.com
website : www.happyreading.in.th
Facebok : www.facebook.com/HappyReadingNews