Happy Reading โดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

ความลับของสะเก็ดแผล

ความลับของสะเก็ดแผล
  • ชื่อหนังสือความลับของสะเก็ดแผล
  • หมวดหมู่
    • หนังสือปันกันอ่าน

ความลับของสะเก็ดแผล
เกนอิชิโร ยางิว  (เรื่องและภาพ) / มารินา โฮริคาวา (แปล) จากเรื่อง What is a scab? (Kasabuta-kun – ญี่ปุ่น)
สำนักพิมพ์วาดดาว, 2549
ปกแข็ง 28 หน้า (23.5 x 25.5 ซม.), 280 บาท

     “อ๊ะ! ห้ามแกะสะเก็ดแผลเด็ดขาด!!”
     “ทำไมถึงห้ามแกะสะเก็ดแผลล่ะ สะเก็ดแผลทำให้รู้สึกคัน แตะแล้วรู้สึกสากๆ ทำให้อยากแกะมากเลย”
     เด็กๆ มักซุกซน บางครั้งก็หกล้มจนเกิดแผล หรือบางทีก็ถูกรองเท้ากัด เกิดรอยถลอก แล้วกลายเป็นสะเก็ดแผล
     แล้ว “สะเก็ดแผลเกิดจากอะไรนะ”
สะเก็ดแผลเกิดจากเลือดที่แข็งตัวจับกันเป็นก้อนเพื่อปิดปากแผล กันไม่ให้เลือดไหลออกมาและไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย  รอจนร่างกายสร้างผิวหนังใหม่ขึ้นมาแทนบริเวณที่เป็นแผล สะเก็ดแผลก็จะหลุดออกไปเอง

     ความลับของสะเก็ดแผล เป็นหนังสือในชุดความลับของร่างกาย ที่มุ่งให้ความรู้ว่าด้วยชีววิทยาของตัวเราเอง มีกลวิธีนำเสนอทำให้อ่านง่าย เริ่มจากตัวละครเด็กๆ แต่ละคนออกมาเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองเคยมีสะเก็ดแผลด้วยอารมณ์ขัน น่ารัก จากนั้นจึงนำเข้าสู่ส่วนที่เป็นความรู้โดยตรงด้วยภาษาง่ายๆ
     “รอสักพัก เลือดก็จะแข็งตัว
     เลือดที่จับกันเป็นก้อนจะกลายเป็นสะเก็ดแผล ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไป”
     บางช่วงสร้างอารมณ์ขันด้วยการให้สะเก็ดแผลพูดโต้ตอบกับเด็ก
     “แผลนี้ได้มาเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ตอนนี้ผ่านมาห้าวันแล้วครับ ข้างใต้สะเก็ดแผลสร้างผิวหนังใหม่เสร็จหรือยังนะ”
     “คุณสะเก็ดแผลคร้าบ เสร็จหรือยังครับ”
     “เหลืออีกนิดเดียว กำลังก่อสร้าง”
     หนังสือใช้ภาพเขียนแบบการ์ตูน มีลักษณะบรรยายแทรกคำพูดของตัวละครด้วยอารมณ์ขันตลอดทั้งเรื่อง
    “คุณแม่ครับ สะเก็ดแผลของผมหายไปแล้ว”
    “อุ๊ย! จริงด้วย แผลก็หายดีแล้ว ดีจังเลย ดีใจด้วยนะลูก”
    “สะเก็ดแผลหลุดไปซะแล้ว รู้สึกเหงาๆ นิดหน่อย”
     ความลับของสะเก็ดแผล เปิด“หน้าต่างแห่งโอกาส”ในด้านการใฝ่รู้ให้กับเด็ก จากเรื่องที่เกิดกับเด็กทุกคน มากน้อยต่างกันไป จากเรื่องที่เกิดกับผิวหนังของเด็ก นำเด็กไปสู่ความอยากรู้ อยากได้คำตอบ แล้วก็ยังเสริมการเรียนรู้ในเรื่องของการรู้จักดูแลตัวเอง (Self Help) ด้วยความอดทนอดกลั้นไม่ไปแกะสะเก็ดแผล เพื่อที่ในที่สุดสะเก็ดแผลจะหลุดออกไป แผลหายสนิท อันเป็นการรักษาสุขอนามัยให้กับผิวหนังและร่างกายของตนเอง เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ในสิ่งที่อยู่กับชีวิตจริงของเด็ก ไม่ใช่เพียงรู้ไว้ใช่ว่า