ก็แค่หมวกใบกระจิริด!

- ชื่อหนังสือก็แค่หมวกใบกระจิริด!
-
หมวดหมู่
- หนังสือปันกันอ่าน
ก็แค่หมวกใบกระจิริด!
เบ็กกี้ บลูม (เรื่องและภาพ) / สิรีพงศ์ สุวรรณโภคิน (แปล)
จากเรื่อง Just a Wee Hat! (อังกฤษ)
สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์คิดดี้, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2549
ปกอ่อน 30 หน้า (19 x 19 ซม.), 55 บาท
คุณหมีพบกรวยน้ำเก่าๆ อันหนึ่ง เธอจึงนำมาตกแต่งเป็นหมวก สัตว์ในป่าต่างชื่นชมหมวกที่คุณหมีสวม คุณตุ่น คุณกระต่าย คุณนายนกฮูก และสัตว์อื่นๆ พากันประดิษฐ์หมวกสวมเหมือนคุณหมีบ้าง
หมวกกลายเป็นของเก๋ไก๋ บรรดาสัตว์ต่างพอใจที่จะสวมหมวกอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเมื่อสวมหมวกแล้วจะทำให้ชีวิตประจำวันไม่สะดวกเหมือนเดิมก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่ยอมถอดหมวก
พวกเขาอยากเล่นน้ำแต่ก็กลัวหมวกจะเสีย จึงได้แต่นั่งอยู่ริมน้ำโดยไม่ทำอะไรเลย อยู่ๆ ก็มีลมแรงพัดหมวกของพวกเขาปลิวลงน้ำ สัตว์ทุกตัวกระโจนลงน้ำเพื่อจะตามเก็บหมวกของตัวเอง แต่เมื่ออยู่ในน้ำแล้วพวกเขากลับพบว่าแท้จริงแล้วพวกเขาอยากเล่นน้ำมากกว่า จึงปล่อยให้หมวกลอยน้ำไป
หมวกถูกสายน้ำพัดไปไกล จนกลายเป็นแค่ “หมวกใบกระจิริด” เท่านั้นเอง
ก็แค่หมวกใบกระจิริด! สื่อให้เห็นถึงการเผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดคิด เมื่อลมพัดหมวกที่พวกเขาชื่นชอบปลิวตกน้ำไป แม้จะเกิดความเสียดายแต่พวกเขาก็พบสิ่งใหม่ที่น่าสนใจและสนุกมากกว่า
เด็กๆ มักพอใจกับของเล่นและมักจะเล่นๆๆ ได้ตลอดเวลา เมื่อมีของเล่นก็ไม่ยอมให้ใครแย่งไป หรือการเล่นโดยไม่รู้เวล่ำเวลา เด็กๆ อาจถูกห้ามบ้าง และผู้ใหญ่ก็ไม่ควรจะตามใจเด็กไปเสียทุกเรื่องโดยเฉพาะสิ่งที่ไม่เหมาะสม
หนังสือเล่มนี้เหมาะกับเด็กวัย 4 ขวบขึ้นไป ซึ่งเป็นโอกาสทองที่จะปลูกฝังพัฒนาการด้านการควบคุมอารมณ์ให้กับเด็ก ไม่เอาแต่ใจตัว อันเป็นหน้าต่างบานหนึ่งที่สำคัญยิ่งของ “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญต่อไปในภายภาคหน้าเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่
ก็แค่หมวกใบกระจิริด! ใช้ภาพโทนสีหวานสะอาดตา บรรยายด้วยร้อยแก้วในลักษณะบุคคลที่สามเป็นผู้เล่า แทรกบทพูดของตัวละครแต่ละตัวด้วยข้อความเดียวกัน เมื่อสัตว์แต่ละตัวได้รับคำชมจากเพื่อนๆ ว่าหมวกสวย ต่างก็ตอบด้วยประโยคเดียวกันว่า “ก็แค่หมวกใบกระจิริด”
เด็กๆ จะรับรู้ได้จากบริบทของเรื่องว่าคำพูดนี้ไม่ได้หมายความว่า “เล็ก” หรือ “น้อย” เพียงอย่างเดียว แต่เป็นคำพูดในลักษณะของการถ่อมตนด้วย เช่น คุณกบพบปล่องไฟจึงนำมันไปตัดเป็นหมวกทรงสูงแล้วประดับด้วยดอกไม้ มันใหญ่โตมาก แต่คุณกบก็ใส่มันอยู่ดี และพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “ก็แค่หมวกใบกระจิริด”
ตัวละครที่ใช้สัตว์เป็นภาพแทนคนมีทั้งหญิงและชาย ผู้เขียนใช้สรรพนาม “เขา” และ “เธอ” แทนการระบุเพศ แต่บางครั้งก็เจาะจงลงไปในชื่อเรียก เช่น คุณนายนกฮูก นากหนุ่ม ตัวละครเปิดขึ้นมาทีละตัวจนกระทั่งไปรวมกลุ่มกันอยู่ริมแม่น้ำ
เมื่ออ่านเรื่องนี้ให้เด็กฟังเป็นกลุ่ม อาจให้เด็กแต่ละคนมีส่วนร่วมด้วยการพูดข้อความเดียวกันว่า “ก็แค่หมวกใบกระจิริด” สวมรอยตัวละครแต่ละตัว จะทำให้รู้สึกเหมือนกำลังเล่นละคร หากคุณพ่อคุณแม่อ่านให้ลูกฟัง เมื่อถึงตอนที่ตัวละครแต่ละตัวพูดก็อาจทำเสียงให้แตกต่าง จะทำให้เด็กรู้สึกสนุกกับเสียงที่หลากหลายและพร้อมที่จะเป็นผู้พูดประโยคนี้เองเมื่อเขาจำเนื้อเรื่องได้