Happy Reading โดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

มะเขือเทศยักษ์

มะเขือเทศยักษ์
  • ชื่อหนังสือมะเขือเทศยักษ์
  • หมวดหมู่
    • หนังสือปันกันอ่าน

มะเขือเทศยักษ์
พุงกลม (เรื่อง) / ไพสิน กลิ่นน้อย (ภาพ)
สำนักพิมพ์ประภาคาร พับลิชชิ่ง, พิมพ์ครั้งแรก, 2552
ปกอ่อน 24 หน้า (21.5 x 24 ซม.), 120 บาท

            ลุงพอปลูกมะเขือเทศไว้มาก และเอาใจใส่ดูแลรดน้ำพรวนดินทุกวัน มะเขือเทศจึงให้ผลสวยงาม  วันหนึ่ง ลุงพอพบว่ามีมะเขือเทศผลหนึ่งโตกว่ามะเขือเทศผลอื่นๆ ลุงพอยังไม่เก็บมะเขือเทศผลนั้นแต่ปล่อยให้มันโตขึ้นๆ มะเขือเทศโตจนเท่าบ้านของลุงพอและไม่มีท่าทีว่าจะหยุดโต แต่ลุงพอก็ตัดสินใจเก็บมะเขือเทศลูกนี้ พร้อมกับเชิญเพื่อนบ้านมางานเลี้ยงมะเขือเทศ
            งานเลี้ยงมีอาหารหลากหลายล้วนทำจากมะเขือเทศ ลุงเพียงซึ่งมาร่วมงานเลี้ยงด้วย อยากมีมะเขือเทศยักษ์เหมือนลุงพอ จึงขอเมล็ดจากลุงพอไปปลูก
ต้นมะเขือเทศของลุงเพียงเริ่มงอก ลุงเพียงเฝ้าดูแลเป็นอย่างดี มะเขือเทศของลุงเพียงโตขึ้นเรื่อยๆ จนใหญ่เท่าบ้านของลุงเพียงแล้ว แต่ลุงเพียงก็ยังไม่พอใจอยากให้มะเขือเทศโตกว่านี้อีก ลุงเพียงต้องการให้มะเขือเทศใหญ่กว่าของลุงพอ และจะนำไปถวายพระราชา เพื่อจะได้รางวัลเป็นทรัพย์สินเงินทอง
            มะเขือเทศของลุงเพียงโตขึ้นเรื่อยๆ ลุงพอแนะนำว่าควรจะเก็บมะเขือเทศได้แล้ว แต่ลุงเพียงก็ไม่เชื่อ มะเขือเทศยักษ์โตขึ้นอีก-โตขึ้นอีก จนกระทั่งแตก โพละ! ทำให้บ้านของลุงเพียงพัง
            ลุงพอกับเพื่อนบ้านช่วยกันซ่อมบ้านให้ลุงเพียง ลุงพอยังให้เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศให้ลุงเพียงนำไปปลูกใหม่ ลุงเพียงซาบซึ้งใจเพื่อนบ้านมาก ตั้งแต่นั้นมาลุงเพียงก็ไม่อยากได้มะเขือเทศยักษ์อีกแล้ว
            แค่มะเขือเทศธรรมดา ลุงเพียงก็พอใจแล้ว
           
            เรื่องของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่ปกติธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีขนาดใหญ่พิเศษ มักอยู่ในนิทานสำหรับเด็ก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้อยากติดตาม หากแต่เพื่อจะบอก “สาร” อะไรเป็นพิเศษ ก็ขึ้นอยู่กับผู้แต่งแต่ละคน สำหรับ มะเขือเทศยักษ์ ก็เพื่อสื่อให้เด็กๆ เข้าใจถึงความพอดี พอประมาณ ดังมีสำนวนไทยที่ว่า “โลภมากลาภหาย”  ในหนังสือใช้ตัวละครสองคน เปรียบเทียบระหว่างความโลภและความพอประมาณ ท้ายเล่มตั้งคำถามถามเด็กๆ “เธอคิดว่า ทำไมลุงเพียงถึงไม่อยากได้มะเขือเทศยักษ์แล้วล่ะ ช่วยบอกหน่อยสิจ๊ะ”
           หนังสือใช้ภาพลายเส้นแบบการ์ตูน สีสดใส  บ้านเรือนเหมือนในเมืองตุ๊กตามากกว่าบ้านไร่จริง หลายหน้ามีมะเขือเทศสีส้มสุกลูกยักษ์เด่นหรา หนังสือเรื่องนี้ช่วยปลูกฝังในเรื่องของความถูกผิด ตามแนวค่านิยมของสังคมไทยในเรื่องความพอประมาณ