Happy Reading โดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

คุณแม่พุงโต

คุณแม่พุงโต
  • ชื่อหนังสือคุณแม่พุงโต
  • หมวดหมู่
    • หนังสือปันกันอ่าน

คุณแม่พุงโต
วิมล วงษ์วันทนีย์ – พริตชาร์ด (เรื่อง) / อะตอม (ภาพ) / ทอม พริตชาร์ต (ให้คำภาษาอังกฤษ)
สำนักพิมพ์แฮปปี้คิดส์, พิมพ์ครั้งที่ 6, 2552
ปกอ่อน 24 หน้า (24 x 24 ซม.), 85 บาท

         คุณแม่พุงโต เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ใช้หมีเป็นตัวละคร เพื่อเล่าเรื่องของคน อันได้แก่ คุณแม่ คุณพ่อ คุณลูก และสมาชิกใหม่ในท้องของคุณแม่ เพื่อสื่อสารให้เด็กเล็กเข้าใจเกี่ยวกับการมีน้องคนใหม่ว่าน้องอยู่อย่างไร กินอาหาร หายใจได้อย่างไร
        เรื่องเริ่มต้นที่แม่หมีกำลังท้อง ลูกหมีสงสัยว่ามีอะไรอยู่ในพุงของคุณแม่ พ่อหมีกับแม่หมีจึงอธิบายให้ลูกหมีนามว่าจอชน้อยฟัง ว่ามีน้องแบบจอชน้อยนั่นแหละอยู่ในท้องของคุณแม่ ในท้องของคุณแม่ น้องทำอะไรได้บ้าง น้องเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง น้องกินอาหารอย่างไร หายใจทางไหน น้องอยู่อย่างไร อาหารอะไรมีประโยชน์แก่น้อง แล้วที่สุดพ่อหมีกับจอชน้อยก็ช่วยกันทำอาหารที่มีประโยชน์ให้กับแม่หมีและน้องในท้องที่กำลังโต๊…โต…
        การเขียนในหนังสือเล่มนี้ เป็นลักษณะทายปัญหาอะไรเอ่ย มีคำตอบหลายตัวเลือกให้เด็กได้ลองเลือกดู แล้วก็เฉลยพร้อมกับอธิบายเพิ่มเติม
        ดังตัวอย่างต่อไปนี้
        ทายซิว่าในท้องคุณแม่มีอะไรเอ่ย
        มนุษย์ต่างดาว — น้อง — สัตว์ประหลาด — ขนมเค้ก
        น้องกินอาหารอย่างไร
        ทางสายสะดือ — ทางปาก — ไม่ต้องกินอะไรเลย
        …………………….
        อาหารอะไรเอ่ย ที่ช่วยให้น้องมีกระดูกแข็งแรง
        ชา — กาแฟ — นม — ไอศกรีม
       คำตอบก็คือนม เพราะมีแคลเซียมสูง ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
       อาหารอะไรเอ่ย ที่ดีต่อสมองของน้อง
       ปลา — ซอสถั่วเหลือง — ยาน้ำรสหวาน
       คำตอบก็คือปลา เพราะมีโปรตีนสูง ช่วยให้สมองเจริญเติบโต
       “เอาล่ะ มาช่วยกันทำอาหารที่มีประโยชน์ให้คุณแม่กับน้องกันเถอะ”
       หนังสือภาพเล่มนี้มีสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) รูปภาพครอบครัวหมีหัวโต ตัวสีน้ำตาล สวมใส่เสื้อผ้าน่ารักน่าชัง แต่ก็ให้ข้อมูลที่เป็นความรู้สำหรับเด็ก ช่วยให้เด็กวัยอนุบาลได้เรียนรู้เกี่ยวกับการมีน้องคนใหม่เพิ่มขึ้นในบ้าน เป็นการปลูกฝังให้เกิดความรักความผูกพันกับน้องและสมาชิกในครอบครัวทุกคน
       คุณแม่พุงโต นอกจากจะมุ่งให้ความรู้แก่เด็ก ตอบข้อสงสัยที่เด็กมักจะถามหนูเกิดมาได้อย่างไร อะไรอยู่ในท้องคุณแม่ ทำไมน้องถึงอยู่ในท้องคุณแม่ ฯลฯ  เป็นการเปิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในการสร้างความผูกพันกันในครอบครัว ระหว่างพี่กับน้องและคุณพ่อคุณแม่  ด้วยการสอนให้เด็กใฝ่รู้ เกิดคำถามและทดลองตอบ อาจจะตอบผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่เป็นไร คำอธิบายที่เจือด้วยความรักของพ่อแม่จะเป็นแรงใจต่อการใฝ่รู้ใฝ่หาคำตอบในเรื่องต่างๆ ต่อไป