การผจญภัยของบิลลี่

- ชื่อหนังสือการผจญภัยของบิลลี่
-
หมวดหมู่
- หนังสือปันกันอ่าน
การผจญภัยของบิลลี่
ไฮดี้ ดาเมอร์ส (เรื่องและภาพ) / กัญญารัตน์ วุฒิวัฒน์ (แปลและเรียบเรียง) จากเรื่อง Little Rabbit goes camping (เบลเยียม)
สำนักพิมพ์ดรีม พับลิชชิ่ง, 2552
ปกอ่อน 28 หน้า (19 x 23 ซม.), 95 บาท
กระต่ายน้อยบิลลี่ออกเดินทางไปค้างแรมในป่า ระหว่างทางได้พบเพื่อนๆ บิลลี่บอกกับเพื่อนๆ ว่าเขาจะไปผจญภัยในป่าตามลำพัง คืนนั้น หลังจากตั้งเต็นท์เสร็จและเตรียมจะเข้านอน ก็มีเสียงอะไรบางอย่างเล็ดลอดเข้ามาในเต็นท์ บิลลี่โผล่หน้าออกไปดูในความมืด พบเงาประหลาดบางอย่างทำให้บิลลี่กลัวจนต้องวิ่งหนีออกจากเต็นท์ไป
รุ่งเช้า เพื่อนๆ ชวนกันไปเยี่ยมบิลลี่ในป่า แต่บิลลี่ไม่อยู่ที่เต็นท์ เพื่อนๆ เป็นห่วงมากเพราะไม่รู้ว่าบิลลี่หายไปไหน ต่างพากันออกตาม แต่แล้วก็พบว่าบิลลี่กลับมาหลับสบายอยู่ที่บ้านนั่นเอง
บิลลี่เล่าความตื่นเต้นจากการผจญภัยให้เพื่อนๆ ฟัง ทำให้เพื่อนๆ อยากไปผจญภัยในป่าบ้าง ทั้งหมดจึงยกขบวนไปพักแรมในป่าด้วยกันโดยมีบิลลี่ร่วมไปด้วย
เพื่อนๆ ต่างตั้งเต็นท์นอน แต่บิลลี่ยังไม่หายหวาดกลัวจากคืนก่อนจึงชวนแม็ตตี้ไปสร้างบ้านนอนบนต้นไม้ ตกดึกคืนนั้น มีเสียงค้างคาวบินใกล้ๆ เต็นท์ พวกเพื่อนๆ ต่างก็กลัว ไม่กล้านอนในเต็นท์ ต่างพากันไปขอนอนที่บ้านบนต้นไม้ของบิลลี่
พวกกระต่ายทั้งหมดนอนเบียดกันในบ้านแคบๆ บนต้นไม้ จนกระทั่งหลับไป บิลลี่รู้สึกว่าการผจญภัยกับเพื่อนๆ หลายๆ คน สนุกกว่าการผจญภัยตามลำพังเยอะเลย
การผจญภัยของบิลลี่ ใช้ภาพกระต่ายเป็นตัวละครแทนคน บอกเล่าถึงการใช้ชีวิตในสังคม ต้องการสื่อให้เด็กๆ เห็นว่า การอยู่ร่วมกันคือจุดเริ่มต้นของสังคมแห่งความสุข
จุดเริ่มต้นที่เด็กจะพบเพื่อนมากหน้าหลายตาคือการเข้าโรงเรียน (โรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์เด็กเล็กนั่นแหละ) เด็กๆ จะเริ่มมีเพื่อน มีสังคมที่กว้างขึ้นนอกเหนือจากบุคคลในครอบครัว เขาจะต้องพบกับผู้คนที่หลากหลาย มีกฎกติกา การเปิดมุมมองให้เด็กๆ เห็นว่าการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนหลายๆ คนนั้นสนุก จะช่วยให้เด็กมีทัศนคติทางบวกในการเข้าสังคม
ก่อนที่จะรู้ว่ามิตรภาพและการอยู่ร่วมกันนำมาซึ่งความสุข เด็กจะรู้สึกตื่นเต้นเช่นเดียวกับการผจญภัยของบิลลี่นั่นแหละ เพราะเขาจะได้พบปะกับผู้คนและสภาพแวดล้อมใหม่ มันจึงเป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ แล้วที่สุดเขาก็จะได้รู้ว่าการมีชีวิตในสังคมเราจะขาดเพื่อนไม่ได้ เพราะการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนหรือเล่นกับเพื่อนๆ จะทำให้เด็กเกิดทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ รู้จักเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ทำให้เด็กเกิดพัฒนาการทางสังคม
บอกได้ว่าเพื่อพัฒนา “หน้าต่างแห่งโอกาส” สำหรับเด็กแล้ว ผู้ใหญ่จะอ่านหนังสือเรื่องนี้ให้เด็กฟัง หรือให้เด็กหัดอ่านเองก็ได้ นอกจากได้รับความสนุกแล้ว สิ่งดีงามที่เด็กจะได้ซึมซับรับรู้ที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็นเรื่องของการรู้จักไว้วางใจและผูกพันกับผู้คน ที่ขยายวงกว้างออกไปจากครอบครัว ซึ่งมีคุณค่าต่อชีวิตของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเพื่อนในโรงเรียนนั่นแหละ เด็กปฐมวัยที่ได้ใช้ชีวิตในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลคือกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะเจาะกับหนังสือเล่มนี้