แผนงานฯ การอ่าน สสส. ร่วมมือ มศว ออกแบบพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบอ่านสร้างสุขลดภาวะ Learning Loss ใน อบต. ผ่านศึก จังหวัดสระแก้ว
เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กไทยประสบปัญหาภาวะเรียนรู้ถดถอยกันถ้วนทั่ว แม้งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า ไม่ควรเร่งเรียนเขียนอ่านในเด็กปฐมวัย แต่ในความเป็นจริง การศึกษาในระดับประถมศึกษานั้น จำเป็นต้องใช้ทักษะการเขียนและการอ่านในการเรียนรู้อย่างมาก ซึ่งทำให้ประโยชน์ที่ได้จากการไม่เร่งเขียนอ่านนั้น อาจไม่เพียงพอ หรือไม่ทันที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนได้ เมื่อเทียบกับเด็กปฐมวัยที่ผ่านการฝึกเขียนอ่านมาก่อนแล้ว สิ่งนี้เป็นความเชื่อของครูประถมศึกษาหลายคนที่ขัดกับทฤษฎีการศึกษาปฐมวัยโดยสิ้นเชิง ซึ่งความไม่เข้าใจนี้ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาปฐมวัยไปสู่ประถมศึกษา เป็นลักษณะของการบังคับให้เด็กปฐมวัยต้องเรียนอ่านเขียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม ดังนั้น การสร้างความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะการอ่าน การสื่อสารในช่วงปฐมวัย และรอยต่อทางการศึกษาระหว่างอนุบาลกับประถมศึกษานั้น จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม จะช่วยลดปัญหาด้านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเครียดความกดดันที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับตัวของเด็กนักเรียน และทำให้เด็กเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมีความสุข
ในการนี้แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ จึงได้พัฒนาโครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข : อ่าน เขียน เรียนรู้ อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข เพื่อร่วมลดภาวะ Learning Loss ขณะเดียวกันเพื่อถอดความรู้นำแนวปฏิบัติการขยายผลในระยะต่อไปโดยจัดให้มีกิจกรรมอบรมปฏิบัติการแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนที่มีระดับอนุบาลและประถมศึกษา พื้นที่องค์การบริการส่วนตำบลผ่านศึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ในวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 08.30-16.30 น. ณ ห้องบุษราคัม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2
ว่าที่ร้อยตรี สุรสิทธิ์ ถิตย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 ประธานพิธีเปิดงาน ได้กล่าวว่า “เป้าหมายของการจัดทำโครงการนี้ เพื่อจะนำองค์ความรู้การสร้าง “เส้นทาง” ส่งเสริมศักยภาพเด็กด้วยการอ่านให้ฟัง และแนวทางการเชื่อมรอยต่อ สร้างทักษะการสื่อสาร (ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน) อย่างเหมาะสมกับวัย จากระดับปฐมวัย สู่ ประถมศึกษา และการออกแบบการเรียนรู้ทักษะการสื่อสาร (ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน) ที่เหมาะสมวัยตามบริบทชุมชนท้องถิ่น มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้บริหารโรงเรียน ครูระดับประถมศึกษาที่ 1-3 และครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมีการการติดตาม ประเมินผล และเสริมพลัง (Empower Evaluation) โดยนักวิชาการร่วมวางแผนพร้อมติดตามหนุนเสริมพลังกับครูแกนนำปฏิบัติการเป็นระยะๆ”
ทางด้าน นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การดำเนินโครงการนี้แผนงานฯ การอ่าน สสส. ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 ซึ่งได้เชิญคุณครูจาก โรงเรียนนิคมสงเคราะห์ 2 และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลผ่านศึกเข้าร่วม นำเทคนิคปฏิบัติการลดปัญหา Learning Loss โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ คือคุณระพีพรรณ พัฒนาเวช กรรมการมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และ ดร.รังรอง สมมิตร อาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เป็นวิทยากร เพื่อให้คุณครูได้มีแนวทางในการออกแบบกิจกรรมการอ่าน เขียน เรียนรู้ อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข และคาดหวังให้เกิดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผ่านจากวัยอนุบาลขึ้น ป.1 อย่างไร้รอยต่อ (Transition) เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข ให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดต่อไป”
ผู้สนใจกิจกรรม สามารถติดตามได้ทางเพจ “อ่านยกกำลังสุข” และ “อ่าน อาน อ๊าน”