ปลูกผักสนุกจัง…สานพลังการอ่าน สู่เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก
“อาหาร” เป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต “ความมั่นคงทางอาหาร” จึงเป็น “หลักประกัน” ทางสังคมที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ความมั่นคงทางอาหาร ในที่นี้ หมายถึง สถานการณ์ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัย และอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอ เหมาะสมกับความต้องการทางสุขภาพและทางวัฒนธรรม ทั้งในภาวะปกติและภาวะพิบัติภัยต่าง ๆ รวมถึงการมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาสมดุลของระบบนิเวศและความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติ หลายประเทศทั่วโลกได้เห็นความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่มุ่ง“ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน”
ในสถานการณ์ปกติ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก แต่ประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้เปราะบาง เช่น คนยากจน คนไร้บ้าน คนพิการ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ฯลฯ ก็ยังประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอ และปัญหานี้ยิ่งสุ่มเสี่ยงและทวีความรุนแรงมากขึ้นในยามที่ประเทศต้องประสบกับภาวะพิบัติภัยทางธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ อันเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนยิ่งจากสถานการณ์วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งนอกจากจะคุกคามสุขภาพของประชาชนด้วยโรคติดเชื้อแล้ว ยังคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนอีกด้วย โดยมาตรการต่าง ๆ ทั้งการปิดเมือง การระงับการเดินทาง การดำเนินกิจการและกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ได้ทำให้คนจำนวนมากต้องกลายเป็น “ผู้เปราะบาง” อย่างกะทันหัน เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้ อันเนื่องมาจากการกักตุนอาหาร การปิดแหล่งจำหน่ายอาหาร และการขาดความมั่นคงในอาชีพ
แม้ว่าการรับมือกับสถานการณ์ โควิด-19 และการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ในประเทศไทยจะดีกว่าหลายประเทศทั่วโลก แต่ปัญหาการกระจายอาหารให้ทั่วถึงอย่างเพียงพอ ความปลอดภัยของอาหาร การบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างสมวัย และการผลิตที่เกื้อกูลต่อระบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต: วิกฤตซ้อนวิกฤตจากโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” นี้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะสำคัญ เพื่อสร้างเสริม “พลังพลเมืองตื่นรู้สู้วิกฤตสุขภาพ” ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี พ.ศ. 2563
ในการนี้ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม มูลนิธิปันสุข นครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและพัฒนาการของเด็กที่จะต้องได้รับโภชนาการสมวัยอย่างปลอดภัยและเพียงพอ จึงได้ ร่วมกันสานพลังพลเมืองขับเคลื่อนออกแบบชุมชน “เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก” ผ่านเครื่องมือสำคัญต่าง ๆ อาทิ หนังสือภาพสำหรับเด็ก การสาธิต การทดลอง การประกาศเจตนารมณ์ ฯลฯ ภายใต้ชื่อโครงการ “ปลูกผักสนุกจัง…สานพลังการอ่าน สู่เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก”
โดยในงาน มีการตรวจสุขภาพหาสารเคมีตกค้างในเลือด โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองนกกระทุง อ.บางเลน จ.นครปฐม พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลคลองนกกระทุง ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปลอดภัย และมีความเสี่ยงน้อยกว่าประชากรที่อยู่นอกตำบล ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากในพื้นที่ตำบลคลองนกกระทุง มีบริบทเป็นชุมชนที่ส่วนหนึ่ง ทำการเกษตรแบบปลอดภัยหรืออินทรีย์
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า “ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มูลนิธิชีววิถี ไทยแพน และเครือข่ายขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็กนครปฐม ที่ลุกขึ้นสร้างปรากฏการณ์รูปธรรมในครั้งนี้ ขอบคุณ สสส. ที่สนับสนุนให้หนังสือและการอ่านเป็นจุดคานงัดสำคัญในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่อง หากเราสามารถปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาวะและวางรากฐานกระบวนการอ่านการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต เขาจะเติบโตเป็นพลเมืองสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสังคมแห่งอนาคต เด็กหนึ่งคนจึงต้องใช้คนทั้งชุมชน ทั้งหมู่บ้าน ทั้งเมืองร่วมกันดูแล ช่วยกันหยุดทำร้ายเด็กในวันนี้ ต้องหยุดใช้สารเคมี ด้วยค่ะ สำหรับพ่อแม่ ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูอนุบาล และผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือนิทานภาพ “ปลูกผักสนุกจัง” ได้ทาง เว็บไซต์แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. www.happyreading.in.th
ขอขอบคุณที่กรุณาเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.
เบอร์โทรศัพท์ 02-424-4616, 080-259-0909
https://www.facebook.com/HappyReadingNews (อ่านยกกำลังสุข)