มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน Reading Culture Promotion Program

เข้าสู่ระบบ
ลืมรหัสผ่าน

ค้นหา

กิจกรรม

โครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการใช้หนังสือและกิจกรรมการอ่านบูรณาการพัฒนาเด็กปฐมวัย

     เพื่อสร้างการยอมรับทางแวดวงวิชาการ และความเชื่อมั่นต่อภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงาน  แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. จึงร่วมกับภาควิชาการและภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการใช้หนังสือและกิจกรรมการอ่านบูรณาการพัฒนาเด็กปฐมวัยดังนี้

1. จ๊ะเอ๋ เปิดทางนิทาน 2 ภาษายกกำลังสุขครอบครัวชายแดนใต้

โครงการ “สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก” สร้างสรรค์นิทาน จ๊ะเอ๋  เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองใช้เวลาคุณภาพส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้ลูก ด้วยเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว  แต่ส่งผลอย่างมากต่อศักยภาพของลูก เครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ติดตามผลด้วยงานวิจัยเรื่อง “ผลการใช้หนังสือนิทานจ๊ะเอ๋ (ฉบับยาวี-ไทย) ต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวและพัฒนาการบุตรก่อนวัยเรียนของครอบครัวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รศ.ดร.มูฮัมมัดอาฟีฟี อัซซอลีฮีย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี เก็บข้อมูลจากการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 205 คน ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้หนังสือกับลูก จะเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกทุกคน  กอดลูกทุกครั้ง  บอกรักลูกทุกครั้ง ทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี : อารมณ์ดี ร่าเริง, จ้องมองตามเวลาพูดคุย, จดจำท่าทางและเสียง, สดใสมีความสุข, มีปฏิกืริยาโต้ตอบ และจดจ่อได้นาน ในขณะที่พฤติกรรมของผู้ปกครองก็เปลี่ยนไป  คือใช้เวลากับลูกมากขึ้น, สนใจ-มีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง ฯลฯ
 

สร้างสรรค์เรื่อง :  สุปรียา  ทองธนากุล   
สร้างสรรค์ภาพ :  Moyoya   
แปลภาษายาวี : แวมายิ ปารามัล  

 
2. นิทาน ผ่อนคลายความเครียด เยียวยาและฟื้นฟูใจ

หางตุ้มกับหูตั้ง และ ตุ๊กตาของลูก หนังสือนิทานที่กำเนิดขึ้นในภาวะเปราะบางจากสภาวการณ์ COVID -19 เป็นเครื่องมือสำคัญ ใน “งานศึกษาวิจัยการฟื้นฟูการเรียนรู้ด้านภาษาของเด็กปฐมวัย  กรณีศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอสะย้าย้อย จังหวัดสงขลา”  โดย รศ.ดร.จุฑารัตน์  สถิรปัญญา หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ชุมชน สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็ก ครู และผู้ปกครอง ช่วงวัย 2-6 ปี (กลุ่มทดลอง 1 ศพด. และกลุ่มควบคุม 1 ศพด.)  หลังจากกลุ่มทดลองได้ใช้หนังสือ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ติดต่อกัน 6 เดือน พบว่า เด็กมีพัฒนาการด้านการรับรู้ เข้าใจภาษา และด้านการใช้ภาษา ตอนเดือนที่ 5 มากขึ้นกว่า ตอนเดือนที่ 1  และมีพัฒนาการด้านการรับรู้เข้าใจภาษา และด้านการใช้ภาษามากกว่ากลุ่มควบคุม ตามระยะเวลาเริ่มต้น 1 เดือน และ 5 เดือน หลังการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ บทพิสูจน์เล็กๆ ที่ตอกย้ำความสำคัญ ว่าหนังสือและกิจกรรมหลังการอ่าน เยียวยาเด็กและพัฒนาเด็กได้แม้ยามวิกฤติ
     

3. สระแก้วโมเดล : ปฏิบัติการนิทานสู่การเรียนรู้เอย่างมีความหมาย

หนังสือภาพสำหรับเด็กมากกว่า 3,000 เล่ม เดินทางสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนแนวตะเข็บชายแดนภาคตะวันออก รวม 9 พื้นที่ ในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ด้วยโครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข : อ่าน เขียน เรียนรู้อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข (อ่าน อาน อ๊าน)  โดย ดร.รังรอง สมมิตร ประธานหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะ (พฤษภาคม 2565-กุมภาพันธ์ 2566) งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ที่มีทั้งการจัดอบรมครูแกนนำถึงเทคนิค-แนวทางการใช้หนังสือ พัฒนากระบวนการเรียนรู้เชื่อมโยงทักษะชีวิตเด็ก, กิจกรรมตลาดนัดการอ่าน เพื่อให้ครูและผู้ปกครองมีส่วนร่วม, การติดตามหนุนเสริมพลังโดยวิทยากร-นักวิชาการ (Reading Coacher - ระพีพรรณ  พัฒนาเวช), การสื่อสารสาธารณะร่วมกับสื่อมวลชนท้องถิ่น ฯลฯ  ผลการวิจัยพบว่า  นักเรียนเตรียมอนุบาล, ระดับอนุบาล จำนวน 403 คน และนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น จำนวน 163 คน มีความสามารถในการเรียนรู้อย่างมีความสุขและมีความหมายจากการประเมินตนเองสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 82.50 อย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจาก MOU ที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และองค์กรท้องถิ่น กระบวนการต่างๆ ของสระแก้ว กำลังเคลื่อนตัวสู่พื้นที่ขยายผลแล้ว

 

4. 3 เล่มในบ้าน  สร้างพลังพลเมืองเด็ก
เครือข่ายอ่านยกกำลังสุขทุกภูมิภาคร่วมใจกันค้นหาครอบครัวเปราะบางที่ไม่มีหนังสือนิทานในบ้าน และพร้อมที่จะร่วมกิจกรรม “อ่านหนังสือให้ลูกฟัง” รวม 642 ครอบครัว   โครงการ “การติดตามประมวลผลการดำเนินโครงการสวัสดิการหนังสือ 3 เล่มในบ้าน” โดย ผศ.ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี และ ผศ.ดร.สรินฎา  ปุติ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศึกษาข้อมูล และพบว่า เด็กในครอบครัวมีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น มีความสนใจหนังสือมากขึ้น (รวมถึงรูปภาพ ตัวการ์ตูนในหนังสือ) มีความตั้งใจ และมีสมาธิมากขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 30.4 รองลงมาคือ เด็กช่างสังเกต ช่างสงสัย ซักถามมากขึ้น มีจินตนาการ และรู้จักนำ ศัพท์ที่มีในหนังสือมาใช้ในการสนทนา รวมถึงเลียนแบบพฤติกรรมจากตัวละครในหนังสือ  

 

สามารถดาวน์โหลดไฟล์งานวิจัย นำเสนอได้ที่ลิงค์นี้ 

https://drive.google.com/drive/folders/1s6vMRwxfm9sLP_pIzJokBGo0q_b9ZPhX?usp=drive_link

แนะนำเมื่อ 24ต.ค. 66
0ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

 

 

กรุณา Login เข้าระบบก่อนแสดงความคิดเห็น หรือสมัครสมาชิกใหม่ คลิกที่นี่

 

 

จำนวนการเข้าชม: 13,357,261 ครั้ง