มหกรรมการอ่านแห่งชาติ มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยจังหวัดปัตตานี
“การอ่าน” เป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างภูมิคุ้มกัน เยียวยา พัฒนาจิตใจ และพัฒนาทักษะสู่การเป็นพลเมืองที่มีความรอบรู้อย่างรอบด้าน เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้การรู้หนังสือเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นพลังแห่งศักดิ์ศรี เป็นพื้นฐานความเข้มแข็งของสังคม และเป็นฐานรากของการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะก่อความรุดหน้าในทุกด้าน ทั้งด้านการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยด้านโภชนาการ การขจัดความยากจน ตลอดจนการสร้างเสริมการมีงานทำที่เหมาะสม การวางฐานการอ่านที่เข้มแข็ง จะเป็นทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ และเป็นปัจจัยสำคัญของการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต
การส่งเสริมให้เด็กมีประสบการณ์ร่วมกับหนังสือตั้งแต่ปฐมวัย (๐ – ๖ ปี) วัยแรกเริ่มของชีวิต เป็นช่วงวัยที่สมองพัฒนาสูงสุด กว่า ๘๐% ของชีวิตมนุษย์ หากผู้ใหญ่ได้ช่วย “เลือกสรร” และ “สนับสนุน” หนังสือที่เหมาะสมให้กับเด็กจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ลดภาวะถดถอยพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก (Learning Loss) เสริมทักษะชีวิตและทักษะสมอง EF (Executive Functions) ซึ่งมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางของสังคมอนาคต
รายงานผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในไทย พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้ความสำคัญเรื่องการอ่าน โดยเฉพาะการมีหนังสือสำหรับเด็ก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการของเด็ก แต่เด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี ในประเทศไทยมีแม่เพียง ๖ ใน ๑๐ คน และพ่อเพียง ๓ ใน ๑๐ คนเท่านั้น ที่ทำกิจกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้กับลูก นอกจากนี้ ยังพบว่า มีเด็กปฐมวัยเพียง ๓ ใน ๑๐ คนเท่านั้น ที่มีหนังสือเด็กอยู่ในบ้านอย่างน้อย ๓ เล่ม สถานการณ์เหล่านี้ยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้นในครอบครัวที่ยากจน สำนักงานสถิติแห่งชาติพบข้อมูลล่าสุดว่า มีเด็กไทยกว่า ๑.๑ ล้านครัวเรือน ที่ไม่มีหนังสือเหมาะสมวัยในบ้าน
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี บูรณาการความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และเครือข่ายศูนย์ประสานงานส่งเสริมการอ่านชายแดนใต้ (พลังอ่านชายแดนใต้) จัดงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ : มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยจังหวัดปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านเด็กปฐมวัย และกระตุ้นการเรียนรู้ด้านการอ่าน การใช้ภาษาอย่างสมวัยสำหรับเด็กปฐมวัย ส่งเสริมกิจกรรมครอบครัว ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลเด็กปฐมวัย การสื่อสาร สร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยเพื่อก่อให้เกิดเป็นสังคมวัฒนธรรมการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยในจังหวัดปัตตานี รวมถึงพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และมีโอกาสเผยแพร่ผลงานด้านวิชาการสำหรับเด็กปฐมวัยของหน่วยงานอื่นหรือองค์กรเครือข่าย
ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย การจัดแสดงบูธนิทรรศการมีชีวิต กิจกรรมสร้างสรรค์จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน การเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็กปฐมวัย อาทิ นิทรรศการมหัศจรรย์การอ่าน, มหัศจรรย์นิทานนานาชาติ, มหัศจรรย์ห้องสมุดของเล่น, อ่านยกกำลังสุข ฟ้าใสสร้างพลเมืองด้วยการอ่านอ่านปลูกรัก กิจกรรมการละเล่นและการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก เวทีการเรียนรู้พัฒนาทักษะนักวิทยาศาสตร์น้อย การดูแลสุขภาพทุกมิติ เมื่อวันที่ 1-3 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมปาร์ค อินทาวน์ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี พร้อมมีการสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือภาพสำหรับเด็ก มอบเป็นของขวัญแก่เด็กและครอบครัวที่มาร่วมงาน ฯ 6,000 เล่ม เพื่อ สนับสนุนนโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยปัตตานี คือ “เซอลามัต ฮารีรายอ” และ“ขอบคุณ” พร้อมจัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือภายในงาน โดยในงานนี้มีองค์กรเข้าร่วมจัดงาน 18 องค์กร และมีผู้เข้าร่วมงาน ร่วมกิจกรรมกว่า 5,000 คน
นอกจากนี้ภายในงานมีการส่งมอบธงเกียรติยศการจัดงาน “มหกรรมการอ่านแห่งชาติ” ส่งต่อภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส เพื่อดำเนินการในปีถัดไปอีกด้วย