แผนงานฯ การอ่าน สสส. ร่วมกับจังหวัดเลย เปิดเวทีพัฒนาเครือข่ายพื้นที่ ปฏิบัติการอ่านยกกำลังสุข พร้อมร่วมลงนาม MOU ทั้ง 5 พื้นที่ ช่วยฟื้นคืน พลังครอบครัวและชุมชน ตามแนวทางการขับเคลื่อน นโยบายการจัดสวัสดิการหนังสือ เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดเลย
เมื่อวันที่ 12 ก.ย.66 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ เทศบาลเมืองเลย อำเภอเมืองเลย นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดงานเวทีพัฒนาเครือข่ายพื้นที่ปฏิบัติการอ่านยกกำลังสุข เพื่อฟื้นคืนพลังครอบครัวและชุมชน" และมอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการจัดสวัสดิการหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดเลย พร้อมทั้งลงนามความร่วมมือ MOU พื้นที่ปฏิบัติการอ่านยกกำลังสุข ทั้ง 5 พื้นที่ โดยมี นายดิษพล บุตรดีวงศ์ ท้องถิ่นจังหวัดเลย นายกิตติพงษ์ ภาษี นายกสมาคมไทเลยเพื่อการพัฒนา ผู้แทนสาธารณสุขจังหวัดเลย ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกิจกรรม
นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ในปี 2562 พบปัญหาอันดับต้นๆ คือ ภาวะเด็กขาดสารไอโอดีน ภาวะอ้วนเตี้ย และมีภาวะพัฒนาการล่าช้า เมื่อพิจารณาพัฒนาการล่าช้าแล้ว จะเห็นว่าเป็นพัฒนาการล่าช้าด้านภาษาและการเข้าใจภาษา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความสามารถทางสติปัญญา อันเป็นพื้นฐานต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เด็กปฐมวัยในจังหวัดเลยมีทั้งหมด 40,639 คน ซึ่งหากเด็กมีภาวะขาดโภชนาการและพัฒนาการล่าช้าจะส่งผลทำให้ภูมิต้านทานต่ำ สติปัญญาต่ำ มีความเสี่ยง ต่อโรคเรื้อรังและส่งผลต่อรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงต้องดำเนินการให้มีโครงการพัฒนาเครือข่ายพื้นที่ปฏิบัติการอ่านยกกำลังสุข และช่วยฟื้นฟูคืนพลังครอบครัวและชุมชน ใน 5 พื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายกิตติพงษ์ ภาษี นายกสมาคมไทเลยเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กเยาวชน ซึ่งนำไปสู่ภาวะ Learning Loss หรือ การเรียนรู้ถดถอย ซึ่งเป็นภาวะของการเสียโอกาสในการเรียนรู้ ที่มีผลทำให้ทักษะต่างๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยสูญเสีย ส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร ทักษะด้านความสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้น เพื่อการฟื้นฟูเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า และภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) จึงควรต้องเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็ก เพิ่มวิธีการเรียนรู้โดยการใช้เครื่องมือ ที่หลากหลาย รวมทั้งการอ่านและการเล่น ซึ่งการสร้างกลไกให้เกิดความร่วมมือ ทั้งระดับระดับนโยบาย สู่การปฏิบัติ คือ 1)การขับเคลื่อนเชิงนโยบายการจัดสวัสดิการหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย 2)การพัฒนาเครือข่ายพื้นที่ปฏิบัติการอ่านยกกำลังสุข 3)การส่งเสริมบุคคลแวดล้อมเด็ก ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาการเด็ก ด้วยหนังสือและการอ่าน
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ลงนามความร่วมมือ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้าน การขับเคลื่อนเชิงนโยบายการจัดสวัสดิการหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดเลย การพัฒนาเครือข่ายพื้นที่ปฏิบัติการอ่านยกกำลังสุข การส่งเสริมบุคคลแวดส้อมเด็กให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ด้วยการอ่าน การเล่น ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเลย สำนักงานเทศบาลเมืองเลย สำนักงานเทศบาลตำบลท่าช้างคล้อง สำนักงานเทศบาลตำบลธาตุ องค์การบริหารส่วนตำบลศรีฐาน องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสวรรค์ คณะทำงานส่งเสริมสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเลย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) และสมาคมไทเลยเพื่อการพัฒนา เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันในการดำเนินการและมีผลบังคับ ณ วันที่ 12 กันยายน 2566 เป็นต้นไป